Power Bank หรือ แบตสำรอง หรือแบตเตอรี่พกพา มีลักษณะเป็นก้อนแบตเตอรี่ ที่ใช้พกพา หลักการคือเก็บไฟไว้บนแบตเตอรี่อีกก้อน เมื่อแบตเตอรี่หลักบนมือถือใกล้หมด ก็ชาร์จไฟ โดยใช้พลังงานจากแบตเตอรี่สำรองนี้ได้ ยิ่งมีหลายอัน ยิ่งมีตัวช่วยฉุกเฉินเยอะ ในภาวะที่เราอยู่ข้างนอก ต้องการใช้งานต่อเนื่อง ไม่มีปลั๊กเสียบ เพราะถ้าไม่ได้อยู่ในรถ หรือที่ทำงาน ก็อาจจะหาปลั๊กเสียบไฟชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ยากสักหน่อย ดังนั้นจึงกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในปัจจุบัน สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ มักถอดแบตเตอรี่ออกไม่ได้ เปลี่ยนแบตเตอรี่ไม่ได้ หากเป็นสมัยก่อน รุ่นที่เปลี่ยนแบตได้เราอาจจะซื้อแบตเพิ่ม ชาร์จแบตเก็บไว้ แล้วพกแบตเตอรี่เอาไว้เปลี่ยนก้อนได้ ซึ่ง Power Bank หรือแบตสำรอง เป็นแบตเตอรี่อีกก้อน ที่ชาร์จไฟเข้าในแบตเตอรี่ก้อนแยกเฉพาะ แล้วสามารถนำมาต่อกับสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต เพื่อจ่ายไฟให้กับอุปกรณ์ ให้สามารถใช้งานได้ทั้งวัน ก่อนหน้านี้ ย้อนกลับไป 3-4 ปี แบตสำรองหรือ PowerBank ออกจะหาซื้อยาก ต้องหาร้านมือถือ แต่เมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา หาซื้อง่าย ราคาถูก ไม่เว้นแม้แต่ร้านสะดวกซื้อ สนามบิน ร้านค้าในสถานีขนส่ง ก็มีแบตสำรองขาย ทำให้เราหาซื้อได้ง่ายและสะดวก วิธีการเลือกแบตสำรอง หรือ พาวเวอร์แบงค์ (Power Bank) นั้น จะมีการจำหน่ายเป็นตัวเลขปริมาณ มิลลิแอมป์ (mAh) โดยเราจะต้องตอบคำถามตนเอง 3 ข้อ ดังนี้ 1. เอาแบตสำรอง มาใช้ทำอะไร ชาร์จอะไร ข้อนี้ จะตอบเรื่องปริมาณความจุ 2. ต้องรู้ว่า เอาแบตสำรอง มาใช้กับอุปกรณ์ใด ใช้กับอุปกรณ์กี่ชิ้น และรองรับการชาร์จแบบใด Fast Charge หรือธรรมดา ข้อนี้จะตอบเรื่องประเภท จำนวนช่อง USB 3. รู้คร่าวๆ เรื่องกำลังไฟ และแรงดันไฟ ข้อนี้จะตอบการเลือกจำนวนช่อง USB และแรงดันไฟ ปริมาณความจุของแบตเตอรี่ และจำนวนรอบการชาร์จไฟ เรื่องควรรู้คือ จำนวนรอบของการชาร์จไฟให้กับอุปกรณ์ต่างๆ ปกติแล้ว สมาร์ทโฟนปัจจุบัน มีแบตเตอรี่ความจุ 2000mAh อ้างอิงจาก iPhone 6S 1715 mAh, iPhone 6s Plus 2750 mAh, Samsung Galaxy S7 3000 mAh และ Samsung Galaxy S7 edge 3600 mAh ถ้าเราเลือกแบตสำรองอยากให้ชาร์จแบตเต็มจาก 0% - 100% ความจุแบตสำรองก็ควรจะเลือกให้ความจุมากกว่าปริมาณความจุของแบตเตอรี่ เช่น แบตมือถือ 2000 mAh แบตสำรองควรมีความจุมากกว่า แรงดันไฟ เป็นอีกเรื่องที่ควรพิจารณา “Power Bank อันนี้ ไม่ดีเลย ทำไมชาร์จไฟช้าจัง รอนานแล้วนะ” อีกหนึ่งเสียงบ่น เพราะหลายคนไม่รู้ว่า การชาร์จแบตเตอรี่ แรงดันไฟก็มีผลต่อการชาร์จไฟเก็บไว้ในอุปกรณ์ด้วยเช่นกัน เราเรียกว่า Input Current นอกจากเราจะดูที่ความจุ 15000mAh - 20000mAh (ซึ่งใช้เวลา 8 - 10 ชั่วโมงในการชาร์จไฟ) แล้ว เราอาจจะเคยอ่านตัวอักษรบน อะแดปเตอร์ชาร์จไฟ 0.8A หรือ 1.5A ปกติแล้วสมาร์ทโฟน จะใช้แรงดันไฟประมาณ 1.0A ยิ่งความจุเยอะ ถ้ามีแรงดันไฟมาก ก็จะทำให้การอัดประจุไฟได้ไวขึ้น ใช้เวลาในการชาร์จสั้นลง แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการรองรับแรงดันไฟของอุปกรณ์ด้วย แต่ส่วนใหญ่ ระบบการชาร์จแบตเตอรี่มักจะเลือกแรงดันไฟอัตโนมัติ จะรู้ได้ไงว่าใช้แรงดันไฟเท่าไหร หลักการง่ายๆ ที่อยากแนะนำก็คือ ดูแรงดันไฟ จากอะแดปเตอร์ของแท้ที่มาพร้อมกับกล่อง เพื่อให้ทราบว่าจะเลือก Power Bank ที่มีแรงดันไฟปริมาณเท่าไหร (ดูส่วนของ Output) ส่วนตัวผู้เขียน หากมี Power Bank 2 USB ช่องนึงเป็น 1.0A อีกช่องเป็น 2.0A มักจะเสียบช่อง 2.0A ไฟเข้าไวกว่า ชาร์ตแบตเต็มไว้กว่า หรือถ้าไม่รู้จะเสียบช่องไหน เลือกง่ายๆ สมาร์ทโฟน เสียบช่อง 1.0A แท็บเล็ตจะมีประจุแบตเตอรี่เยอะกว่า 4000 mAh ขึ้นไป เสียบช่อง 2.0A ไฟเต็มไวกว่า เสียบจาก 1.0A อาจจะใช้เวลาในการชาร์จนานกว่า ใช้วิธีสังเกตด้วยตาเปล่า นับเปอร์เซนต์แบตก็ได้ ว่าเสียบช่องไหน ในระยะเวลานาทีที่เท่ากัน ช่องไหนไฟเข้าไวกว่า นอกจากนี้พอร์ต USB บน Power Bank มักจะเห็นมี 1 หรือ 2 ช่อง เสียบพร้อมกัน 2 ช่อง ก็ดึงไฟเยอะ Power Bank ก็หมดไว วงรอบการชาร์จ หมายถึง การชาร์จ Power Bank ให้เต็ม 1 รอบ 100% จะชาร์จอุปกรณ์ได้กี่รอบ ถ้าความจุ 5000 mAh ก็ชาร์จแบตเตอรี่อุปกรณ์ความจุ 2000 mAh ได้ประมาณ 1 รอบกว่าๆ หรือจะชาร์จแค่พอใช้งานได้ก็น่าจะใช้ได้ 2-3 รอบ ต่อการชาร์จ Power Bank 1 ครั้ง คำว่า 1 รอบ ควรจะชาร์จไฟเข้าอุปกรณ์ได้ 0 - 80 หรือ 90% ไม่ต้องเต็ม 100% เพราะอาจมีค่า Loss แบตเตอรี่คลายประจุ ประโยชน์อื่นๆ ของ Power Bank หลายรุ่น กดปุ่ม Power บน Power Bank ค้าง เป็นไฟฉาย ใช้ในกรณีฉุกเฉิน ส่องช่องเสียบกุญแจรถ กุญแจสตาร์ทรถ รวมไปถึง เอา Power Bank มาเสียบกับ พัดลม USB, หลอดไฟ LED แบบ USB ใช้ส่องสว่างได้ (ลองดูตามร้านตลาดนัดสิ เอา Power Bank เสียบหลอดไฟ LED ใช้ส่องขายของแผงลอย) มีไอเดียในการนำ Power Bank มาประยุกต์ใช้อีกเยอะ เพราะอุปกรณ์ที่ต่อ USB มีหลากหลาย การรับประกัน ตรวจสอบการรับประกันให้ดี มองหาตัวแทนจำหน่ายในไทย เพราะแบตเตอรี่ เก็บประจุไฟ มีโอกาส ช็อต ระเบิด ชาร์จไฟไม่เข้า ตรวจสอบสติกเกอร์รับประกัน หรือเก็บกล่อง ใบเสร็จไว้ หรือนามบัตรร้าน ช่องทางติดต่อร้าน สินค้าพวกนี้มักไม่มีการซ่อม อาจจะเปลี่ยนตัวใหม่ หรือบางร้านอาจให้เลือกชิ้นอื่นทดแทน สอบถามเงื่อนไขการรับประกันจากร้านค้าให้ดี >> ขอบคุณบทความดีๆ จาก Thaiware <<